หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรของคณะบริหารประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด (รวมกรุงเทพฯ ) 76 จังหวัด โดยมีความเกี่ยวข้องและบริหารงานประสานกับหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หรือการปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ส่วนรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททั่วไป และประเภทพิเศษ โดยการบริหารแบบทั่วไปแบ่งเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
เทศบาล
เทศบาลเป็นหนึ่งในจำนวนรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. เทศบาลตำบล เป็นเขตที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จึงอนุมัติตั้งเป็นเขตเทศบาล
2. เทศบาลเมือง มีองค์ประกอบสำคัญต่อการอนุมัติให้ได้สถานะนี้ คือ เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรือเป็นพื้นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป
3. เทศบาลนคร เป็นเขตที่ต้องมีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป จึงจะได้รับการอนุมัติให้ได้สถานะนี้
เทศบาลทั้ง 3 ระดับ บริหารโดยสภาเทศบาล มีประธานสภาเป็นผู้บริหารสูงสุด ส่วนจำนวนสมาชิกสภาฯ มีความแตกต่างกันไป โดยสมาชิกสภาเทศบาลตำบลมี 12 คน เทศบาลเมืองมี 18 คน และเทศบาลนครมี 24 คน
การบริหารแบบพิเศษ
ส่วนการบริหารแบบพิเศษ ปัจจุบันมีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเขตที่มีอำนาจบริหารงานหลายอย่างเป็นอิสระ
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ มีผู้ว่าราชการเป็นผู้บริหารสูงสุดมาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และมีสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยสมาชิกของสภาฯ มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
ในขณะที่พัทยามีโครงสร้างการบริหารเหมือนกับกรุงเทพฯ ยกเว้นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ซึ่งได้แก่ นายกเมืองพัทยา โดยพัทยาไม่มีตำแหน่งผู้ว่าราชการ